สาเหตุที่ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ทรงถูกปลดออกจากราชการ
ครั้นถึงวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ ออกจากราชการอยู่ ชั่วระยะหนึ่ง รวมเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงรับราชการครั้งแรก ๑๑ ปี
สาเหตุที่ออก ก็เพราะว่ามีพวกทหารเรือไปเที่ยว พบกับทหารมหาดเล็ก เกิดเรื่องวิวาท กันขึ้น เรื่องทราบไปถึง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เข้าทรงไม่พอพระทัย รับสั่งให้เจ้าคุณรามราฆพ ไปทูลเสด็จในกรมฯ ให้ส่งทหารเรือที่วิวาทกับ ทหารมหาดเล็กไปให้ ท่านไม่ยอมส่งให้ ได้ให้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า
"เป็นเรื่องของคนวิวาทกัน ซึ่งจะว่าข้างใดเป็นผู้ผิดไม่ได้ และท่านก็รักทหารเรือ ของท่านเหมือนกับลูก ท่านไม่เคยส่งลูกไปให้ใครเขาเฆี่ยนตี ถ้าจะตีก็จะตีเสียเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วรับสั่งว่า ถ้าท่านไม่ส่งไปให้ก็ต้องให้ออก เพราะว่าทำงานร่วมกันไม่ได้" เสด็จในกรมฯ จึงต้องออกจากราชการในคราวนั้น
นอกจากนั้นในตอนฝึกเสือป่า ก็มีเรื่องไม่เป็นที่พอพระทัย คือซ้อมรบมีกันหลายฝ่าย พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงซ้อมรบด้วยหลายครั้ง ปรากฏว่าฝ่ายลูกน้อง เสด็จในกรมฯ ไปจับเอาพระเจ้าอยู่หัว และองครักษ์มาโดยไม่ทราบว่าเป็น พระเจ้าอยู่หัว แล้วมาทูลเสด็จในกรมฯ ว่าตนได้จับฝ่ายตรงข้ามได้สองคนเข้าใจว่าจะเป็นคนสำคัญ เสด็จในกรมฯ ได้แอบดูก็รู้ว่าเป็น พระเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่งให้ปล่อยไป โดยให้ลูกน้องของพระองค์ แกล้งลืมกุญแจไว้ เพราะถ้าปล่อยโดยตรง รัชกาลที่ ๖ ก็จะไม่โปรดอีก จะกริ้วเอาเปล่าๆ จะหาว่าเสด็จในกรมฯ ทรงแกล้งแพ้
ในระยะนั้นมีข่าวลือว่า เสด็จในกรมฯ ทรงคิดจะขบถ หากสำเร็จจะยกให้ กรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเสด็จในกรมฯ จะเป็นวังหน้า
เนื่องจากเสด็จในกรมฯ และกรมพระนครสวรรค์ เป็นพี่น้องที่รักกันมาก เพราะถูกอัธยาศัยกัน อีกทั้งฝ่ายมารดาก็ต่างเป็น คนในตระกูลบุนนาคด้วยกัน คนเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง กรมพระนครสวรรค์ฯ เอง ก็ทรงเสียพระทัยมาก คิดจะกราบถวายบังคมลาออกจากราชการอยู่หลายครั้ง
แต่มีคนทูลอ้อนวอน ไม่ให้ออกก็เลยอ่อนพระทัยระงับการลาออก
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กับ การทรงศึกษาวิชาไสยศาสตร์
พระคุณลักษณะที่ทรงโปรดการศึกษา เรียนรู้ ทดลอง และพิสูจน์อย่างจริงจัง อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลพระทัยสำคัญให้กรมหลวงชุมพรฯ ทรงศึกษาด้านไสยศาสตร์หลากแขนง จนเป็นที่ประจักษ์ของบุคคลรอบข้าง ดังความตอนหนึ่งจากพระนิพนธ์ใน ม.จ. เริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ความว่า
“… ทรงสักยันต์ทั้งองค์ตั้งแต่หนุ่ม ๆ เช่น สักหนุมาน สักลิงลมที่พระชงฆ์สำหรับเดินเร็ว ใครตามแทบไม่ทัน … นอกจากนี้ ยังมีกระดูกหน้าผากแม่นาคพระโขนง คาดไว้ที่บั้นพระองค์ ไม่ทราบว่าใครนำมาถวาย …”
นอกจากนั้น ในพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ มักจะปรากฏชื่อของพระเถราจารย์ 2 รูปที่พระองค์ทรงนับถือและไปมาหาสู่อย่างสม่ำเสมอ คือ พระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และพระครูประศาสน์สิกขกิจ หรือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ ซึ่งล้วนเป็นพระเถราจารย์ผู้มีชื่อเสียงในด้านมนตราและไสยเวทย์
กระทั่งการทรงพาพระโอรสและพระธิดาไปศึกษาให้ตระหนักรู้ถึงความไม่เที่ยงของกายสังขาร โดยการพิจารณาอสุภะ ตามคำบอกเล่าของ ม.จ.เริงจิตรแจรง
ที่ว่า
“… เสด็จพ่อพาลูก ๆ ไปปลงศพ (เปิดฝาโลงดู) เมื่อมีคนตายตั้งแต่วันแรก ทรงสอนให้พิจารณาปลงอนิจจัง ท่านบอกว่าดูไว้นะว่าคนตายวันแรกแล้วเป็นอย่างนี้ พออีกวันก็เปลี่ยนไป ท่านให้ดูถึง 3 วัน แต่ละวันท่านถามว่าเป็นอย่างไร หน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร พวกพี่น้องผู้ชายตอบไม่ค่อยได้ ข้าพเจ้าเป็นคนตอบท่าน เสด็จพ่อบอกว่าพาไปดูเพื่อให้รู้จักปลง
วันที่ 3 ทนไม่ไหวชักมีกลิ่นจึงพร้อมใจกันขอประทานเลิกดู …”
กรมหลวงชุมพรฯ ทรงประสบความสำเร็จในการทรงศึกษาวิชาไสยศาสตร์ จนทรงสามารถ ”สร้างฤทธิ์อำนาจขึ้นในตน” ขึ้นได้จริงในสายตาบุคคลรอบข้าง แต่ก็ไม่ปรากฏเลยว่า ทรงเคยใช้พระปรีชาในศาสตร์แขนงนี้เพื่อ “อำนวยผลสัมฤทธิในทางโลก” หรือดำเนิน “เล่ห์กล” ต่อผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น