จากปากน้ำถึงสมุทรปราการเมืองหน้าด่านชายทะเล (๑๐)
: คนปากน้ำ
.
..สมุทรปราการมีกลุ่มทางชาติพันธุ์หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มคนไทยพื้นเมือง มลายู ลาว มอญ จีน ฯลฯ ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์นี้มีหลายสาเหตุด้วยกันคือ กลุ่มมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนเมืองหน้าด่านป้องกันศึกทางทะเล กลุ่มลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยสงครามแถบคลองมหาวงษ์และส่วนใหญ่ย้ายกลับไปอยู่แถบนครนายก กลุ่มมลายูมุสลิมที่เข้ามาทำการเกษตรและเป็นแรงงานในการขุดคลองเพื่อชลประทาน กลุ่มคนจีนที่เข้ามาค้าขาย กลุ่มชาติพันธ์กลุ่มต่างๆ เหล่านี้กลายเป็น “คนปากน้ำ” สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว เช่น
.
พระประแดงแหล่งมอญ
.
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามเข้ามามากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาในแขวงเมืองธนบุรี นนทบุรี และนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดง พระประแดงจึงกลายเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้ขยายการตั้งถิ่นฐานไปยังอำเภอบางพลีและอำเภอบางบ่ออาชีพทำนาเป็นหลัก ในอำเภอพระประแดงมีวัดทรงธรรม และวัดคันลัด เป็นศูนย์กลางชุมชน กลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญเหล่านี้ยังสามารถรักษาความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ได้จนถึงปัจจุบัน เช่น การนับถือผี การสวดมนต์ การเผาศพ ประเพณีสงกรานต์ และการตั้งบ้านเรือน
.
จีนผู้กุมฐานเศรษฐกิจ
.
บริเวณอำเภอเมืองเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวจีนซึ่งเข้ามาตั้งรกรากค้าขายริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเมืองสมุทรปราการและริมคลองสำโรงและคลองสาขา มีศาลเจ้าจีนและเจว็ดไม้ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าพ่อบางพลีใหญ่ และศาลเจ้าตั้วปุนเถ่ากง ส่วน “ศาลเจ้าหลักเมือง” ในจังหวัดสมุทรปราการเดิมเป็นอาคารทรงไทยแต่เมื่อทรุดโทรมลงผู้ที่เคารพบูชาซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนจึงร่วมกันสร้างรูปแบบศาลเจ้าจีน เมื่อบ้านเมืองขยายให้ความสำคัญกับถนน ศาลเจ้าจึงเปลี่ยนมาอยู่ริมถนนแทน ศาลเจ้ารุ่นหลังๆ ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่บางแห่งสร้างโดยชาวจีนไต้หวันที่เข้ามาทำโรงงานอุตสาหกรรม
.
ประเพณีสำคัญของคนปากน้ำ
.
งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์และการแข่งเรือพายประเพณีจังหวัดสมุทรปราการ
.
งานประจำปีของจังหวัดสมุทรปราการ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันเริ่มงานเฉลิมฉลองกันนาน ๙ วัน ๙ คืน ชาวบ้านช่วยกันเย็บผ้าแดงใหญ่ใช้เวลาเย็บ ๒ วัน สำหรับแห่และห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ ในวัน ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จะเชิญขึ้นตั้งบนบุษบกแห่รอบเมือง เวลา ๑๑.๐๐ น. เชิญผ้าแดงลงสู่เรือแห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปพระประแดง แต่เดิมใช้เรือพายราว ๑๐๐ ลำ เมื่อส่งผ้าแดงขึ้นบกแล้วจะเป็นเรือที่ใช้แข่งเรือพายประจำปีที่พระประแดง เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมอนุโมทนา เมื่อถึงท่าน้ำพระประแดงทำพิธีรับผ้าแดงแห่งรอบเมืองแล้วจึงยกขบวนกลับมาพระสมุทรเจดีย์ ปัจจุบันเป็นการแข่งเรือยาวจากจังหวัดต่างๆ ที่มุ่งตั้งใจมาแข่งโดยเฉพาะบริเวณท่าน้ำพระประแดงตั้งแต่ท่าน้ำหน้าบ้านนายอำเภอพระประแดง มาสุดทางเส้นชัยที่ท่าน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง
.
งานสงกรานต์พระประแดง
.
ชาวมอญถือปฏิบัติเคร่งครัดบางประเพณีก็กลายเป็นที่ยอมรับนำมาปฏิบัติกันในท้องถิ่น เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีปล่อยนก ปล่อยปลา บางอย่างนิยมปฏิบัติเฉพาะในหมู่ชาวมอญเท่านั้น ซึ่งประเพณีส่วนใหญ่ของชาวมอญจะแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
.
วันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์จะมีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลกระดูกอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และกิจกรรมรื่นเริง งานประเพณีสงกรานต์ที่ขึ้นชื่อที่สุดของสมุทรปราการคือที่พระประแดง
.
ใกล้สงกรานต์ชาวบ้านจะเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน ช่วยกันกวนกาละแม หุงข้าวเหนียวแดงเตรียมไว้ทำบุญ แจกพี่น้องเพื่อนบ้าน เตรียมหาเสื้อผ้าชุดใหม่ที่สวยงามพร้อมเครื่องประดับ การส่งข้าวสงกรานต์หรือข้าวแช่ จะทำเฉพาะวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนเท่านั้น บ้านที่รับหน้าที่ทำจะปลูกศาลเพียงตา หุงข้าวสวยแต่แข็งกว่าเล็กน้อยนำไปแชน้ำเย็นเพื่อไม่ให้เกาะตัวกัน ต้มน้ำทิ้งไว้ให้เย็นโรยดอกมะลิแล้วนำไปใส่หม้อดินกินกับไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม หรือยำชนิดต่าง ๆ ของหวานเป็นถั่วดำต้มน้ำตาล ผลไม้ ได้แก่ กล้วยหักมุก แตงโม จัดลงกระทงวางในถาดเท่ากับจำนวนวัดที่จะไป ซึ่งวัดมอญในเขตพระประแดงมี ๑๐ วัด สาวๆ ในหมู่บ้านจะมารับข้าวสงกรานต์เพื่อนำไปส่งตามวัดต่าง ๆ เจ้าของบ้านจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะไปวัดไหน เป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่จะปล่อยให้หญิงสาวนัดพบกับหนุ่มๆ ได้เป็นกลุ่มๆ ขากลับมีรดน้ำกันเพื่อเป็นสิริมงคลและสนุกสนาน
.
สำหรับวัดมอญต้องมีเสาสูงที่เรียกว่า เสาหงส์ ที่ข้างพระอุโบสถหรือใกล้พระเจดีย์ เมื่อใกล้วันสงกรานต์ชาวบ้านช่วยกันทำธงตะขาบ แต่งธงให้สวยงามด้วยผ้าสีสดสำหรับนำไปถวายวัดเพื่อติดตั้งบนเสาหงส์ จะมีการแสดงรำตำนานหงสาวดีและอื่น ๆ ในขบวน รถบุปผาชาติมีสาวงามถือหงส์นั่งบนรถ บางส่วนเดินถือขวดโหลใส่ปลา ถือกรงนกเพื่อนำไปปล่อยสะเดาะเคราะห์ ส่วนธงตะขาบแต่ละผืนต้องมีคนช่วยกันแบกหามจับถือชายธงถือว่าได้บุญกุศล เมื่อแห่รอบแล้วจะแยกย้ายกันเข้าวัดของตนเอง พระภิกษุสวดมนต์ให้พร จบแล้วโห่สามลา ชักรอกดึงธงสู่ยอดเสาและผูกไว้ให้อยู่ตลอดปี แล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้มาร่วมงาน ถวายผ้าไตรให้พระภิกษุครองผ้าที่ถวายใหม่ สรงน้ำพระสงฆ์อาวุโส รับศีลขอพรในวันสงกรานต์
.
วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน เป็นกิจกรรมทางศาสนา หลังจากนั้น ๗ วัน จะเป็นกิจกรรมรื่นเริง ประกวดนางสงกรานต์ กลางคืนเล่นสะบ้ามอญตามบ่อนต่าง ๆ รุ่งเช้ามีการสาดน้ำ ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ แห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่ประกอบด้วยกลองยาว หนุ่มสาวถือโหลใส่ปลา กรงนก ตามด้วยรถขบวนสาวงาม ก่อนถึงท้ายขบวนเป็นนางสงกรานต์นั่งบนรูปสัตว์ประจำปี
.
งานรับบัวบางพลี
.
เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของอำเภอบางพลีที่เคยมีบึงใหญ่และมีดอกบัวขึ้นอยู่มากมาย ในอดีต บางพลีมีชาวบ้าน ๓ กลุ่ม คือ คนไทย คนมอญ คนลาว เล่ากันว่า ทั้งสามกลุ่มปรึกษากันว่าจะช่วยหักร้างถางพงเพื่อทำไร่และทำสวนต่อไปจึงพยายามช่วยกันหักร้างถางพง เพื่อจะได้รู้ถึงภูมิประเทศว่าด้านไหนจะหากินได้คล่องกว่ากัน จึงต่างแยกทางกันไปทำมาหากิน คนลาวไปทางคลองสลุด คนไทยไปทางคลองชวดลาดข้าว คนมอญไปทางคลองลาดกระบัง
.
๒-๓ ปีต่อมา คนมอญทำนาไม่ได้ผลเพราะนกและหนูชุมรบกวนพืชเสียหายจึงพากันอพยพกลับถิ่นเดิมทางฝั่งปากลัด เริ่มอพยพในตอนเช้ามืดของเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ก่อนไปพากันเก็บดอกบัวในบึงเพื่อนำไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัดและได้สั่งเสียคนไทยว่าในปีต่อไปฝากเก็บดอกบัวหลวงไว้ที่วัดหลวงพ่อโตแล้วพวกตนจะมารับดอกบัวไป ก่อน พ.ศ.๒๔๗๘ พอถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ตั้งแต่ตอนเย็นหรือค่ำ ชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการและอำเภอพระประแดงจะชักชวนญาติมิตรเพื่อนฝูงพากันลงเรือ นำเครื่องดนตรีร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกครึกครื้นทั้งคืน พายมาตามลำน้ำเจ้าพระยาบางลำก็เข้าตามลำคลองจนเข้าสู่คลองสำโรงมุ่งตรงไปหมู่บ้านบางพลีใหญ่ รุ่งเช้าชาวบางพลีจะเตรียมหาดอกบัวหลวงไว้ให้ผู้มาเยือน ได้นำดอกบัวไปนมัสการหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่วัดบางพลีในและนำดอกบัวอีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้ให้ชาวมอญนำกลับไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด การให้และการรับทำกันอย่างสุภาพ คือรับส่งและรับกันมือต่อมือ ก่อนจะให้ต้องมีการอธิษฐานและผู้รับต้องพนมมือไหว้ขอบคุณ ส่วนผู้คุ้นเคยก็จะโยนดอกบัวให้กันถือเป็นคนกันเองเมื่อนานไปก็กลายเป็นความนิยม
.
งานแห่เจ้าพ่อทับสำโรง
.
เป็นงานประจำปีในท้องถิ่นชาวจีนที่ตำบลสำโรงเหนือซึ่งเชื่อว่าเจ้าพ่อทัพเป็นที่พึ่งทางใจและประกอบอาชีพค้าขาย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนในสำโรงนับถือกันมาก ศาลเจ้าพ่อทัพอยู่ที่สุดซอยวัดมหาวงษ์ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกปีจะมีการจัดแห่เจ้าพ่อทัพขึ้นราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ขบวนเหล่านี้จะหยุดเมื่อผ่านร้านค้าให้เชิดสิงโตเข้าร้าน เจ้าของร้านจะจุดประทัดรับและร่วมทำบุญแห่งไปจนถึงตลาดปู่เจ้าสมิงพรายแล้วกลับที่เดิม มีการเฉลิมฉลอง ๓ วัน ๓ คืน มีการเล่นงิ้ว ประมูลผลไม้ และเครื่องเซ่นกลับไปบูชาเป็นศิริมงคลในการค้าขาย เมื่อเสร็จงานจะอัญเชิญกระถางธูปและเจ้าพ่อกลับไปยังศาลเดิม
.
จากบทความ “จากปากน้ำถึงสมุทรปราการเมืองหน้าด่านชายทะเล” https://lek-prapai.org/home/view.php?id=810
โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
.
Cr.สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น