วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขอองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 







#๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขอองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และทรงพระเกษมสำราญ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนย์มายุยิ่งยืนนานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ปวงชนชาวไทยขอให้พระองค์ทรงมีพลามัยสมบูรณ์แข็งแรงเป็นพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยตลอดไป

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายประพันธ์ เวารัมย์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป อบต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ


คำถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช
สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565


ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

    ข้าพระพุทธเจ้า รองศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์ จุมปา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในนามของผู้บริหาร และบุคลากร มสธ. ต่างปลาบปลื้มปิติโสมนัสเป็นล้นพ้นในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ได้เวียนมาบรรจบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์อันมหาศาลของประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตในดวงใจของอาณาประชาราษฎ์ ยังผลให้พสกนิกร ทุกหมู่เหล่ามีความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า เป็นที่ประจักษ์ประทับอยู่ในใจของพสกนิกรตลอดมา

    ในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัยนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ด้วยความจงรักภักดี ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีแห่งพระสยามเทวาธิราช ตลอดจนพระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระบูรพามหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ได้โปรดดลบันดาลอภิบาลและประทานพรให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเกษมสำราญมีพระราชประสงค์จำนงหมายสิ่งใดขอจงสัมฤทธิ์ดั่ง พระราชหฤทัยปรารถนา มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน พระเกียรติคุณขจรขจายแผ่ไพศาล ทรงสถิตเป็นมิ่งขวัญร่มเกล้า แก่พสกนิกรชาวไทย ตราบจิรัฐติกาล เทอญ.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ด้านการทหารและการบิน

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระราชวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์ด้านการทหารอยู่ตลอดเวลา

   โดยหลังสิ้นสุดการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และยังทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้พระองค์ทรงมีพระประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบินในระดับสูงมาก

   นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด อาทิ

  • ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม
  • ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๗ ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๕ อี/เอฟ

   ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดำรงพระยศ ทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ

  • พระยศ พลเอก ของกองทัพบกไทย
  • พระยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือไทย
  • พระยศ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศไทย

   พระราชกรณียกิจด้านการทหารที่รักษาความมั่นคงของประเทศ พระองค์ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่เขาล้าน จังหวัดตราด

ด้านกีฬา

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่นำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ

   พระราชกรณียกิจด้านการกีฬาอื่น ๆ อาทิ เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

   นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นประธานในกิจกรรม Bike for Mom ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ โดยวัตถุประสงค์นอกจากจะให้ประชาชนแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงออกถึงความรักที่มีต่อแม่ของตนและแม่ของแผ่นดินแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย รวมถึงเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาอีกด้วย

   อีกทั้งยังมีกิจกรรม Bike For Dad “ปั่นเพื่อพ่อ” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงนำขบวนผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์ ร่วมเทิดพระคุณพ่อและเพื่อแสดงพลังความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ

ด้านการศึกษา

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพ จึงสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ๖ แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่

  • ๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ จ.นครพนม
  • ๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ จ.กำแพงเพชร
  • ๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ จ.สุราษฎร์ธานี
  • ๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ จ.อุดรธานี
  • ๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ จ.สงขลา
  • ๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ จ.ฉะเชิงเทรา

   โดยพระองค์ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในด้านการศึกษา ซึ่ง ๖ โรงเรียนดังกล่าว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง พร้อมพระราชทานคำแนะนำและทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน อาทิ โครงการอาชีพอิสระ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัยต่าง ๆ รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอยู่เสมอ

   นอกจากนี้ ยังมีพระราชดําริให้นําพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาจัดทํา “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๒ และต่อมาทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม และฐานะยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง โดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีโอกาสศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน เมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ

   สำหรับพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปี

ด้านศาสนา

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ

   นอกจากนี้ ยังทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงผนวช เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ซึ่งระหว่างทรงผนวช พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

   พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อาทิ เป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ ณ เขาชีจรรย์ ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๙ และเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการดำเนินการก่อสร้าง

   

   

   

ด้านการเกษตรกรรม

   เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นประจำ รวมทั้งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านเกษตรกรรมแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอด และทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่าง ๆ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

   นอกจากนี้ พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนเกษตรกร อาทิ ทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งในการนี้ ยังทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธุ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน นำพาความชื่นชม ปลาบปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

   

   

ด้านการแพทย์

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยและพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงเป็นองค์ประธาน ในการจัดสร้าง "มูลนิธิกาญจนบารมี" ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ มีวัตถุประสงค์ คือ

  • ๑. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้
  • ๒. เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • ๓. เพื่อให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
  • ๔. เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงาน, กิจกรรมต่าง ๆ, และการพัฒนาบุคลากรของศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  • ๕. เพื่อร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ และเพื่อสาธารณประโยชน์
  • ๖. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

   

   

   

ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ โดยเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง อาทิ เสด็จเยือนประเทศอิตาลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, อิหร่าน, เนปาล, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง ทรงเตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนและระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้น ๆ

   ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและทรงศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศไทย อาทิ ทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร อุตสาหกรรม งานศิลปวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศนั้น ๆ

   พระองค์ยังทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะแทนพระองค์ อาทิ วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ทรงรับสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

   นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังผู้นำประเทศต่าง ๆ อาทิ มีข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังนายฮัสซัน รูฮานี ในโอกาสได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐, มีพระราชสาส์นอำนวยพรในโอกาสวันเอกราชและวันชาติของจอร์เจีย ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐,

   ส่งพระราชสาส์นถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ และมีข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังนายเอ็มมานูเอล มาครง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐

   เมื่อครั้งที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศต่าง ๆ ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ รัชกาลที่ ๑๐ ทรงส่งข้อความเสียพระราชหฤทัยไปยังผู้นำประเทศนั้น อาทิ ข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กรณีเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศเมียนมา ตกในทะเลอันดามัน นอกชายฝั่งใกล้เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐, ข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยัง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

   กรณีเกิดเหตุก่อการร้ายที่รัฐสภาอิหร่านและสุสานของอายาตุลลอห์ โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐, ข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร กรณีเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นต้น

ด้านสังคมสงเคราะห์

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีความห่วงใยต่อผู้ด้อยโอกาส และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนแออัด พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง อาทิ ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน อาทิ โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน และโครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อาทิ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ

   นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขตลอดมา โดยหลังครองราชย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการในเขตพื้นที่ และประชาชนจิตอาสาเก็บขยะมูลฝอยและวัชพืชจากคลอง ท่อระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝนให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็ว ป้องกันน้ำท่วม ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งตัดแต่งกิ่งไม้ริมคลองเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้



ที่มา : https://king.kapook.com/kingrama10/sec3_detail_all.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คู่มือแบบการร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566)

 คู่มือแบบการร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566) โหลดตรงนี้ https://l...