วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

อุดหนุนได้ไหม โรงเรียน วัด หมู่บ้าน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ รพ. สต อำเภอ หน่วยงาน ส่วนราชการต่างๆ ฯลฯ

#อุดหนุนได้ไหม โรงเรียน วัด หมู่บ้าน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ รพ. สต อำเภอ หน่วยงาน ส่วนราชการต่างๆ ฯลฯ
มีคำถามใครเคยอุดหนุนโรงเรียนบ้าง (หลักการเดียวกันทุกหน่วยงาน) เช่น....
1) อุดหนุนงานก่อสร้างโรงเรียนบ้างค่ะ จะสอบถามขั้นตอน สามารถทำได้หรือไม่ กรณีโรงเรียน สพฐ.ขอสนับสนันงบประมาณในการก่อสร้างสนามกีฬาโรงเรียน
2) อุดหนุนส่งเสริมอาชีพ วัฒนธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้
3) กรณีรร.สพฐ.ของบอุดหนุนจัดซื้อครุภัณ์เครื่องดนตรีวงโยธวาทิต​ เทศบาลสามารถอุดหนุนได้มั้ยคะ
4) ในกรณีโรงเรียนเขียนโครงการมาขอรับงบอุดหนุนเราสามารถอุดหนุนได้เลยไหมคะ หรือ ทางโรงเรียนจะต้องของบอุดหนุนจากเขตพื้นที่การศึกษาก่อน หากเขตพื้นที่การศึกษาไม่สามารถอุดหนุนได้ ทางเทศบาลจึงจะมีสิทธ์อุดหนุน หรือเราสามารถอุดหนุนได้เลย
แนวทาง.......
อุดหนุนได้หรือไม่ได้ให้ศึกษาตามอำนาจหน้าที่ และข้อกำหนดที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้
นิยามคำว่า “เงินอุดหนุน” หมายความว่า เงินที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งงบประมาณอุดหนุนให้แก่......
1) หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน
2) เพื่อให้ดำเนินการตามภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น ตามกฎหมาย
แล้วหน่วยงานไหนบ้างล่ะที่สามารถขอรับเงินอุดหนุนได้ก็ให้พิจารณาตามคำนิยามหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน ดังนี้
“หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน” หมายความว่า.......
(1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
(2) ส่วนราชการ ได้แก่ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผนดิน
(3) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่การไฟฟ้า การประปา และ องค์การจัดการน้ำเสีย
(4) องค์กรประชาชน ได้แก่องค์กรซึ่งเป็นการรวมของประชาชนที่จัดตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงานของรัฐ หรือหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(5) องค์กรทางศาสนาซึ่งจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงานของรัฐเช่น วัด มัสยิด
(6) องค์กรการกุศล ได้แก่ องค์กรซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดำเนินงานการกุศลหรือบําเพ็ญสาธารณประโยชน์มิใช่การมุ่งแสวงหากำไรที่จัดตั้งตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงาน
ของรัฐ เช่น มูลนิธิเหล่ากาชาดจังหวัด
หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ระเบียบข้อ 5 กำหนดไว้ว่า...
"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจตั้งงบประมาณให้เงินอุดหนุนหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนได้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(1)โครงการที่จะให้เงินอุดหนุนต้องเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ให้เงินอุดหนุนตามกฎหมาย ห้ามมิให้อุดหนุนโครงการที่มีลักษณะเป็นเงินทุนหมุนเวียน และโครงการที่มีลักษณะเป็นการจัดเลี้ยงอาหาร หรือการจัดกิจกรรมนันทนาการ
ห้ามมิให้อุดหนุนหน่วยงานอื่นในการจัดหาครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง เว้นแต่จะอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไปดูอำนาจตาม พรบ.จัดตั้ง)
(2) ประชาชนในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ให้เงินอุดหนุนต้องได้รับประโยชน์จากโครงการที่จะให้เงินอุดหนุน (มุ่งเน้นที่ประชาชนในเขตพื้นที่เป็นสำคัญ)
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับโครงการอันเป็นภารกิจหลักตามแผนพัฒนาท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการเอง และสถานะทางการคลังก่อนที่จะพิจารณาให้เงินอุดหนุน(โครงการดังกล่าวควรตั้งอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น)
(4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเห็นสมควรให้เงินอุดหนุนแก่หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน ให้นําโครงการขอรับเงินอุดหนุนของหน่วยงานดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น และตั้งงบประมาณ ไว้ในหมวดเงินอุดหนุนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ห้ามจ่ายจาก
เงินสะสม ทุนสํารองเงินสะสมหรือเงินกู้ (ตั้งงบประมาณไว้ในหมวดเงินอุดหนุนเท่านั้น)
นอกจากนั้นวิธีตั้งจ่ายงบประมาณต้องตั้งจ่ายไว้ตามข้อกำหนดในอัตราส่วนที่ไม่เกินตามระเบียบข้อ 5 ที่ได้กำหนดไว้ว่า
" องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจตั้งงบประมาณให้เงินอุดหนุนหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนได้ไม่เกินอัตราส่วนของรายได้จริงในปีงบประมาณที่ผ่านมาโดยไม่รวมเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้ดังนี้
(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่เกินร้อยละสิบ
(2) เทศบาลนคร ไม่เกินร้อยละสอง
(3) เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล ไม่เกินร้อยละสาม
(4) องค์การบริหารส่วนตำบล ไม่เกินร้อยละห้า
กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดจะตั้งงบประมาณให้เงินอุดหนุนเกินอัตราตามวรรคหนึ่ง ให้ขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรายกรณีก่อนการตั้งงบประมาณ โดยส่วนที่เกินจะต้องไม่เกิน หนึ่งเท่าของอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง และให้ระบุเหตุผลความจําเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเพื่อประกอบการพิจารณา
ข้อ 7 กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งงบประมาณให้เงินอุดหนุนหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนโดยใช้เงินอุดหนุนที่ได้รับในลักษณะที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามนั้นให้หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการและให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นดำเนินการตาม ข้อ 4 โดยถือว่าประมาณการค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการเสนอโครงการขอรับเงินอุดหนุน ตามข้อ 4 (1) โดยไม่ต้องมีเงินงบประมาณในส่วนของตนเองร่วมสมทบเพื่อใช้จ่ายในการ
ดำเนินการโครงการที่ขอรับเงินอุดหนุน ทั้งนี้ไม่นําเงินอุดหนุนดังกล่าวมานับรวมคํานวณอยู่ในอัตราส่วนตาม ข้อ 5 (***ถ้าอุดหนุนอุปกรณ์ปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องมีเงินสมทบและไม่ให้นำอัตราส่วนดังกล่าวมาคิดคำนวณยอดละร้อยละในการตั้งงบประมาณรายจ่าย)
ส่วนขั้นตอนกระบวนการในการขอรับเงินอุดหนุนนั้นให้ดำเนินการภายใต้ระเบียบ
ข้อ 8 กำหนดไว้ คือ...
หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(1) เสนอโครงการขอรับเงินอุดหนุนซึ่งต้องเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับ โดยแสดงเหตุผลความจําเป็นและรายละเอียดของ กิจกรรมในโครงการดังกล่าว
(2) หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการ ยกเว้นกรณีตาม ข้อ 7 ต้องมีงบประมาณในส่วนของตนเองร่วมสมทบ เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการขอรับเงินอุดหนุน ในกรณีเป็นโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงหรือปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างตามจําแนกงบประมาณต้องมีงบประมาณสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของค่าใช้จ่ายโครงการ เว้นแต่กรณีเป็นนโยบายรัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรณีอื่น ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาตามสถานะทางการคลัง
(3) หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนต้องดำเนินการตามโครงการเอง โดยไม่สามารถมอบหมายให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนได้
ข้อ 9 เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับแล้ว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนทราบ และห้ามหน่วยงานที่รับเงินอุดหนุน ดำเนินการหรือ ก่อหนี้ผูกพันก่อนที่จะได้รับเงินอุดหนุนไปพร้อมกัน เว้นแต่กรณีมีความจําเป็นเร่งด่วนหรือการอุดหนุนงบประมาณตาม ข้อ 7
ก่อนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำบันทึกข้อตกลงกับหัวหน้าหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน เว้นแต่กรณีการขอรับเงินอุดหนุนตาม ข้อ 6 และ ข้อ 7 สำหรับองค์กรประชาชน องค์กรทางศาสนา และองค์กร
การกุศลให้จัดทำบันทึกข้อตกลงกับผู้แทนของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามคน
ทั้งนี้ตามแบบที่ปลัดกระทรวง มหาดไทยกำหนด
แต่ก่อนที่จะอุดหนุนให้ดูสถานะการคลังด้วยนะคะซึ่งระเบียบข้อ 10 ได้กำชับไว้ว่า......
"ให้องค์กรปกครองสวนท้องถิ่นตรวจสอบสถานะการเงินและการคลังของตน หากมีรายได้เพียงพอ จึงจะพิจารณาให้เงินอุดหนุนแก่หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนนได้โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่ตั้งไวในหมวดเงินอุดหนุน
ข้อ 11 การเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้เงินอุดหนุนให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และข้อสำคัญให้มีการติดตามและประเมินผลด้วย ตามระเบียบข้อ 12 ......"ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ให้เงินอุดหนุนติดตามและประเมินผลการดำเนินการโครงการของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้....."
เพราะฉะนั้นนอกจากระเบียบที่กำหนดไว้แล้วเราต้องไปดูอำนาจหน้าที่ ตาม พรบ.จัดตั้งของแต่ละหน่วยงาน และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่2) พ.ศ.2549 กำหนดไว้ดังนี้.....
1) อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุุตามบัน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562
1. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
2. ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ (มาตรา 67)
1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะรวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
3) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
7) คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
😎 บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากร ให้ตามความจำเป็นและสมควร
3. ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายองค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจกรรมในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ (มาตรา 68)
1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
2) ให้มีการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
3) ให้มีการบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุมการกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะ
5) ให้มีการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์
6) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
😎 การคุ้มครองดูแล และรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
9) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล
10) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
11) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
12) การท่องเที่ยว
13) การผังเมือง
2) อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562...
มาตรา 50 เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(1) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) ให้มีและบํารุงทางบกและทางน้ำ
(2/1) รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดูแลการจราจรและส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
(3) รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(4) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
(5) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
(6) จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษำ ศาสนา และการฝึกอบรมให้แก่ประชาชนรวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก
(7) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
(😎 บํารุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของทั้งถิ่น
(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา 51 เทศบาลตำบลอาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(1) ให้มีน้ําสะอาดหรือการประปา
(2) ให้มีโรงฆ่าสัตว์
(3) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
(4) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
(5) บํารุงและส่งเสริมการทํามาหากินของราษฎร
(6) ให้มีและบํารุงสถานที่ทําการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้
(7) ให้มีและบํารุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(😎 ให้มีและบํารุงทางระบายน้ํา
(9) เทศพาณิชย์
3) อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 (แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2562)
มาตรา 45 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
(2) จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(3) สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(4) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(5) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(6) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เฉพาะภายในเขตสภาตำบล
(7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(7 ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(😎 จัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือ ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(9) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 46 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่อยู่นอกเขตจังหวัดได้ เมื่อได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 48 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นโดยเรียกค่าบริการได้ โดยตราเป็นข้อบัญญัติ
มาตรา 50 การดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์อาจทำได้ โดยการตราเป็นข้อบัญญัติ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
4) อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549.....
มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตําบล มีอํานาจ
และหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ในท้องถิ่นของ ตนเอง ดังนี้
(1) การจัดทําแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
(2) การจัดให้มีและบํารุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ
(3) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
(4) การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่น ๆ
(5) การสาธารณูปการ
(6) การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ
(7) การพาณิชย์ และการส่งเสริมการลงทุน
(😎 การส่งเสริมการท่องเที่ยว
(9) การจัดการศึกษา
(10) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และ ผู้ด้อยโอกาส
(11) การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันของท้องถิ่น
(12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
(13) การจัดให้มีและบํารุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
(14) การส่งเสริมกีฬา
(15) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
(17) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(18) การกําจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ําเสีย
(19) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
(20) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(21) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
(22) การจัดให้มีและควบคุมการเลี้ยงสัตว์
(23) การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณอื่น ๆ
(24) การจัดการ การบํารุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
(25) การผังเมือง
(26) การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร
(27) การดูแลรักษาที่สาธารณะ
(28) การควบคุมอาคาร
(29) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(30) การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
(31) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศ กําหนด
เพราะฉะนั้นคงพอจะตอบโจทย์ได้แล้วนะคะว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถสนับสนุนหรือที่เรียกว่า เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานใดๆนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ อำนาจหน้าที่และระเบียบกำหนดไว้ตามที่อ้างถึงนั้นคะ....
วราภรณ์ แสงชา
คนท้องถิ่น ❤️สิงห์
29 พฤษภาคม 2565
อ้างอิง....
1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563
2) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุุบัน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562
3) พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562
4) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 (แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2562)
5) พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คู่มือแบบการร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566)

 คู่มือแบบการร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566) โหลดตรงนี้ https://l...